พบปะการังเปลี่ยนเพศได้ ปรับตัวรับสภาวะโรคร้อน

6098 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นักวิทย์อิสราเอลเผย พบปะการังเปลี่ยนเพศได้ คล้ายกับพืชบางชนิด ที่ต้องปรับตัวให้อยู่รอด ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบพฤติกรรมนี้ในปะการัง คาดสาเหตุ มาจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องเปลี่ยนจากเพศเมียเป็นเพศผู้ เพราะทนทานต่อแรงกดดันได้ดีกว่า และใช้พลังงานน้อยกว่า
      

ภาพปะการังดอกเห็ดเพศเมียในสปีชีส์ C. echinata ขณะกำลังปล่อยไข่ออกมาในน้ำรอบๆตัวเพื่อผสมพันธุ์ (ภาพจาก AFTAU)

     การค้นพบพฤติกรรมการเปลี่ยนเพศในปะการังดอกเห็ด (mushroom coral หรือ fungiid coral) เป็นผลงานของ ศาสตราจารย์ยอสซี โลยา (Prof. Yossi Loya) ภาควิชาสัตววิทยา มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ประเทศอิสราเอล ที่พบว่าปะการังดังกล่าวมีการเปลี่ยนเพศ เพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบกรณีแบบนี้ในปะการัง และได้ตีพิมพ์ในวารสารราชบัณฑิตยสภาอังกฤษฉบับบี (Proceedings of the Royal Society B) ตามที่ระบุในเว็บไซต์ไซน์เดลี

       
       ศาสตราจารย์โลยา อธิบายเรื่องนี้ว่า เมื่อเวลาที่สภาพอากาศร้อนอย่างรุนแรง ปะการังดอกเห็ดเพศเมีย จะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเพศผู้ ที่สามารถต่อสู้กับสภาวะเเร้นแค้น หรือมีแรงกดดันจากธรรมชาติได้มากกว่าปะการังเพศเมีย ซึ่งกรณีนี้พบได้ในกล้วยไม้และพืชบางชนิด
       
       "ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนเพศ จะเป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งของปะการังบางชนิด เนื่องจากปะการังเพศ ผู้ สามารถทนต่อสภาวะโหดร้ายได้มากกว่า เมื่อผ่านช่วงนั้นไปได้และสภาพแวดล้อมกลับมาเหมาะสมเช่นเดิม ปะการังเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนกลับมาเป็นเพศเมียดังเดิม" ศาสตราจารย์โลยา อธิบาย
       
       "ที่เป็นเช่นนี้เพราะปะการังเพศผู้ใช้พลังงานในการดำรงชีวิตน้อยกว่า ปะการังเพศเมีย และเมื่อมันสามารถเปลี่ยนเพศได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะทำให้สิ่งมีชีวิตนี้มีความพยายามในการสืบพันธุ์อย่างมากที่สุด" ศาสตราจารย์โลยา กล่าวต่อ
       
       ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ แต่ก็ยังมีพฤติกรรมบางอย่างคล้ายกับพืช และนอกเหนือจากสีสันสวยสดงดงามแล้ว ปะการังยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ทะเลชนิดอื่นอีกหลากหลายชนิด พันธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญให้ของมนุษย์
       
       อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแนวปะการังใต้ทะเลหลายแห่งถูกทำลายลง ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งมีแนวปะการังถึง 1 ใน 4 ส่วนจากทั่วโลกเสียหายไปแล้ว
       
       จากการค้นพบว่า ปะการังสามารถเปลี่ยนเพศได้ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาวิธีการขยายพันธุ์ปะการังให้ได้ ในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างใหญ่หลวง ตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์กันไว้
       
       "องค์ความรู้นี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง กับนักเพาะพันธุ์ปะการัง ซึ่งปะการังดอกเห็ดนั้นจัดเป็นปะการังที่ค่อนข้างแข็งแรง หากเรารู้สภาวะในการสืบพันธุ์ของมัน เราก็สามารถขยายพันธุ์เพิ่มได้เป็นจำนวนมาก" ศาสตราจารย์โลยา กล่าว ซึ่งเขาศึกษาเรื่องปะการังมานานกว่า 35 ปี และขณะนี้ก็กำลังดำเนินโครงการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยให้ปะการังในทะเลแดง

ที่มา

ASTVผู้ จัดการออนไลน์24 กุมภาพันธ์ 2552

Powered by MakeWebEasy.com