64014 จำนวนผู้เข้าชม |
Reef Aquarium Water Parameters
คุณภาพน้ำและมาตรวัดต่างๆ ในระบบตู้ทะเล
น้ำทะเลตามธรรมชาติ ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุ และส่วนประกอบต่างๆ มากมาย น้ำทะเลจากแต่ละแหล่งที่มา ก็จะมีความแตกต่างในสารประกอบของน้ำทะเลนั้นๆ การที่ท่านจะประสบความสำเร็จในการ ดูแลรักษาระบบตู้ทะเลของท่าน ปัจจัยหลักที่ท่านต้องคำนึงถึงก็คือ “การจำลองน้ำทะเลตามธรรมชาติ หรือ ทำให้น้ำในระบบของท่าน มีความใกล้เคียงกับทะเลตามธรรมชาติมากที่สุด” ท่านควรจะต้องวัดระดับค่าต่างๆในระบบของท่านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆอย่างฉับพลันหรือเร็วเกินไป ซึ่งอาจจะนำมาถึง การสูญเสียต่างๆในระบบของท่านได้
การที่ท่านจะทำให้น้ำทะเลของท่านใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ก่อนอื่น ท่านจะต้องศึกษาถึง ระดับค่าต่างๆของน้ำทะเลตามธรรมชาติ แล้วค่อยๆปรับค่าของน้ำในระบบของท่านให้ใกล้เคียงกับน้ำทะเลตามธรรมชาติมากที่สุด จากตารางข้างต้น ท่านสามารถสังเกตได้ว่า น้ำในระบบตู้ทะเลของท่านควรจะมีความใกล้เคียงกับน้ำทะเลตามธรรมชาติ ที่สุด ทั้งนี้การนำน้ำทะเลแท้ๆจากธรรมชาติมาใส่ลงในระบบของท่าน อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ท่านได้ระดับค่าที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ แต่ตามความเป็นจริงน้ำทะเลที่มีขายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันนี้ มักเป็นน้ำทะเลที่นำมาจาก เขตป่าชายเลน หรือทะเลที่ไม่ไกลจากฝั่งมากนัก ดังนั้นน้ำทะเลที่ท่านได้มาจะไม่ใช่น้ำทะเลบริเวณที่อยู่อาศัยของปะการัง และจะมีระดับค่าต่างๆที่แตกต่างออกไปมาก อีกทั้งยังมีสิ่งสกปรกเจือปน รวมไปถึงสปอร์ ของสาหร่ายที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆอีกมากมาย ดังนั้นหากท่านต้องการจะใช้น้ำทะเลแท้ๆจากธรรมชาติ ท่านจะต้องนำมากรองและฆ่าเชื้อด้วยแสง ยูวีเสียก่อน ซึ่งมีกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งท่านยังไม่สามารถแน่ใจได้ว่าน้ำทะเลที่ท่านได้มา เป็นน้ำจากแหล่งใด ดังนั้น จึงไม่แนะนำอย่างยิ่งที่ท่านจะใช้น้ำทะเลแท้ๆจากธรรมชาติ
ดังนั้นการใช้เกลือทะเลคุณภาพ สำหรับระบบตู้ทะเลของท่าน จึงเป็นอีกทางออกที่ดี เนื่องจากเกลือทะเลคุณภาพหลังจากที่ทำการละลายน้ำแล้ว จะมีระดับค่าต่างๆที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต ของสิ่งมีชีวิตในระบบของท่าน อีกทั้งยังสะดวกและประหยัดมากกว่าการใช้น้ำทะเลจากธรรมชาติซึ่งจะต้องเติมสารประกอบอื่นๆเพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น น้ำทะเลแท้ที่ท่านได้มาอาจจะมีแร่ธาตุต่างๆไม่เพียงพอ ท่านอาจจะต้องเติมไอโอดีน, แร่ธาตุรวมต่างๆ ลงไปเพิ่ม เพื่อให้อยู่ในระดับที่พอเพียงกับระบบของท่าน แต่การเปลี่ยนน้ำด้วยเกลือทะเลคุณภาพประมาณ 10เปอร์เซ็นต์ ทุกอาทิตย์ จะทำให้ระบบตู้ของท่านมีแร่ธาตุที่สมบูรณ์เพียงพอโดยที่ท่านไม่ต้องเติมแร่ธาตุอื่นๆเพิ่มเติมเลย
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความต้องการแร่ธาตุต่างๆและการผลิตของเสียต่างๆในแต่ละระบบก็มีความแตกต่างกันอยู่มาก บางระบบอาจต้องการแร่ธาตุ ชนิดใดชนิดหนึ่งมากเป็นพิเศษ ดังนั้นท่านจึงต้องทำการวัดและดูแลรักษาระดับค่าต่างๆของน้ำในระบบของท่าน อยู่เป็นประจำ บทความนี้ จะกล่าวถึงมาตรวัดหลักๆที่ท่านควรคำนึงถึงในการดูแลตู้ทะเลของท่าน
แคลเซียม Calcium
ปะการังหลายชนิดต้องการแคลเซียมในการดำรงชีวิต และเจริญเติบโต แหล่งแคลเซียมหลักที่ปะการังได้รับนั้นมาจากน้ำทะเลที่อาศัยอยู่ ดังนั้นในระบบที่มีปะการังแข็งเป็นจำนวนมาก จึงต้องคำนึง ระดับแคลเซียมให้มาก เนื่องจากระดับแคลเซียมจะลดลงอย่างรวดเร็วจากการใช้ไปของปะการัง รวมไปถึง Calcareous red algae จากการศึกษาพบว่าปริมาณแคลเซียมที่ต่ำกว่า 360 ppm จะทำให้ปะการังแข็งตายได้เนื่องจากขาดธาตุอาหาร
การรักษาระดับแคลเซียม เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆที่ท่านต้องคำนึงถึงในการดูแลระบบตู้ทะเลของท่าน ระดับแคลเซียมที่แนะนำคือ 450 ppm หรือระดับเดียวกับน้ำทะเลตามธรรมชาติ จากการศึกษาพบว่า แม้ว่าท่านจะพยายามเพิ่มระดับแคลเซียมให้มากกว่า 450ppm ก็จะไม่ได้ช่วยให้ปะการังโตเร็วขึ้นหรืออย่างใด ดังนั้นจึงเป็นการเปล่าประโยชน์ที่จะ เพิ่มระดับแคลเซียมเกินกว่าค่าดังกล่าว ท่านสามารถเพิ่มปริมาณแคลเซียมได้หลายวิธี อาทิเช่น เติมแคลเซียมน้ำ หรือใช้แคลเซียมรีแอคเตอร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณแคลเซียมที่ระบบของท่านต้องการ
อัลคาลินิตี้ Alkalinity
โดยปรกติแล้วนักเลี้ยง ส่วนใหญ่มักจะตั้งระดับ Alkalinity ของระบบให้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลตามธรรมชาติ คือประมาณ 2.5-4 me/L หรือ 7-11 dKH เนื่องจากระดับ Alkalinity จะถูกใช้ไปอย่างรวดเร็วในระบบของท่าน เนื่องจากปะการังใช้ “Alkalinity” ในการสร้างส่วนโครงของปะการัง และมากไปกว่านั้นระดับของ Alkalinity ยังมีส่วนช่วยให้ ระดับของ Ph ในระบบของท่านมีความเสถียร การเพิ่มปริมาณ Alkalinity สามารถ ทำได้โดยการเติม Kalkwasser
ความเค็ม Salinity
การวัดความเค็มของน้ำ มีอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดคือ การวัดค่าของ Specific gravity (หน่วยคือ ppt หรือ part per thousand) กล่าวอย่างคร่าวๆคือปริมาณของเกลือแห้ง ต่อน้ำหนึ่งกิโลกรัม การวัดด้วยวิธีนี้คือการใช้ เครื่องมือวัดธรรมดาที่มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด ท่านควรจะทำความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งหลังการใช้ เนื่องจากคราบเกลือที่ติดอยู่กับเครื่องมืออาจทำให้ค่าที่วัดได้เกิดความคลาดเคลื่อน
ระดับที่แนะนำคือ 35 ppt หรือ sg = 1.026 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นระดับกลางที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่ทั้งนี้ ยังมีความเชื่อที่ไม่ได้มีใครทำการพิสูจน์อย่างเป็นทางการว่า ระดับความเค็มที่ต่ำลงกว่า 35ppt จะทำให้ปลาลดความเครียดในระบบได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามระดับที่แนะนำคือ 35ppt
อุณหภูมิ Temperature
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบตู้ทะเลของท่านหลายทาง
อาทิเช่น การที่อุณหภูมิสูงขึ้นจะส่งผลให้ระบบการเผาผลาญในตัวของสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งปริมาณของออกซิเจน คารบอนไดออกไซด์ และสารอาหารต่าง ๆ จะถูกใช้หมดไปเร็วยิ่งขึ้นในอุณหภูมิที่สูง กล่าวอย่างง่ายคือการเผาผลาญที่ดีจะทำให้มีการเจริญเติบโตที่ดีรวมถึงมีการผลิตของเสียในระบบที่มากขึ้น มากไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็วยังส่งผลกระทบต่อระบบทางเคมีในตู้ทะเลของท่าน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่างๆ
ตามธรรมชาติน้ำทะเลมีอยู่ในปริมาณที่มหาศาล ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในระหว่างวันจึงมีไม่มากนัก และนี่คือเป้าหมายที่ท่านจะต้องรักษาความเสถียรของอุณหภูมิในระบบของท่าน ระดับของอุณหภูมิที่แนะนำในระบบตู้ทะเลของท่าน ควรอยู่ระหว่าง 26-29 องศาเซลเซียส กล่าวคือ ท่านสามารถเลือกระดับอุณหภูมิระดับใดก็ได้ในช่วงอุณหภูมิดังกล่าว แต่สิ่งที่ท่านต้องระลึกอยู่เสมอนั้นก็คือความคงที่ของอุณหภูมิในหนึ่งวันไม่ความเกิดความเปลี่ยนแปลงมากไปกว่า “บวกลบ 1 องศา” ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 28 องศา การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในตู้ของท่านไม่ควรน้อยไปกว่า 27 องศา หรือมากไปกว่า 29 องศา
อย่างไรก็ตามมีผู้เลี้ยงหลายท่านนิยมตั้งอุณหภูมิไว้ที่ระดับต่ำสุดคือประมาณ 25 – 26 องศาเซลเซียส เพื่อลดระดับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเนื่องจาก เครื่องทำความเย็นไม่ทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การตั้งอุณหภูมิไว้ที่ระดับต่ำสุดนั้นจะสามารถยืดเวลาไม่ให้อุณหภูมิขึ้นสูงจนเกิน 33 องศาเซลเซียสอย่างเร็วเกินไป ซึ่งจะมีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในตู้ทะเลของท่าน
ค่าความเป็นกรด / ด่าง pH
ช่วงระดับค่า pH ที่ได้รับการยอมรับในการดูแลระบบตู้ทะเล อย่างแพร่หลายอยู่ที่
ระดับ 8.0 – 8.3 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับน้ำทะเลแท้ ท่านควรที่จะวัดระดับการเปลี่ยนแปลงของค่า pH ในระหว่างวันของระบบของท่าน เนื่องจากค่า pH จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่เสมอในระหว่างที่เปิดไฟและปิดไฟ ท่านควรจะดูแลมิให้ค่า pH สูงหรือต่ำกว่าระดับมาตราฐานดังกล่าว
การเปลี่ยนแปลงของค่า pH จะส่งผลกระทบต่อระบบเคมีต่าง ๆ ในตู้ทะเลของท่าน
สิ่งมีชีวิตหลายชนิดจะไม่สามารถทนอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรด หรือด่าง มากเกินกว่าระดับดังกล่าว ท่านจึงควรดูแลค่า pH อย่างใกล้ชิด ท่านสามารถควบคุมค่า pH ได้โดยการเติม pH Buffer คุณภาพสูงที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไป
Nitrite (No2)
ในช่วงแรกของการสร้างระบบตู้ทะเล ค่า No2 คือสิ่งที่ท่านต้องคำนึงถึงเป็นอย่าง
มาก เนื่องจากในระบบใหม่ การย่อยสลายของเสียของแบคทีเรียต่าง ๆ ยังไม่สามารถทำงานได้ดีนัก ดังนั้นในระบบที่ใหม่จึงมีระดับ No2 ที่สูง ท่านควรตรวจวัด และทำการเติมแบคทีเรีย ที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การย่อยสลายของเสียในระบบ หรือการทำงานของแบคทีเรียเป็นไปได้ดีขึ้น
ในระบบที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปี การเกิดปัญหาของระดับ No2 สูงจนเกินไป จะมีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย เนื่องจากในตู้ทะเลของท่านมีระบบการย่อยสลายของเสียที่ลงตัว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท่านต้องระวังก็คือ การเพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ เข้าสู่ระบบครั้งละมาก ๆ ซึ่งทำให้ปริมาณของเสียที่จะเกิดขึ้นมากขึ้นตาม จนมีผลกระทบให้ระบบของท่านไม่สามารถย่อยสลายได้ทัน และอาจเกิดปัญหาขึ้นได้
แมกนีเซียม Magnesium
หลายท่านอาจมองข้ามความสำคัญของแมกนีเซียมในระบบตู้ทะเลของท่าน
หากกล่าวอย่างคร่าวๆเพื่อให้เข้าใจง่าย แมกนีเซียมมีความสำคัญมาก เนื่องจากแมกนีเซียม มีความสัมพันธ์กับค่าแคลเซียมและค่าอัลคาลินิตี้ ในระบบของท่าน ธาตุทั้งสามชนิดนี้มีความสัมพันธ์กันทางเคมีอยู่ ถ้าหากขาดตัวใดตัวหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความแปรผันในระบบของท่านได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าในตู้ของท่านมีค่าของแมกนีเซียมต่ำกว่ามาตรฐาน ก็จะส่งผลให้ปริมาณแคลเซียมในระบบของท่าน ต่ำตามลงไปด้วย ไม่ว่าท่านจะพยายามเติมแคลเซียมลงไปมากเท่าไร แต่หากระบบของท่านยังขาดแมกนีเซียมอยู่ ก็จะทำให้ระบบของท่านไม่สามารถคงค่าของแคลเซียมที่ท่านเติมลงไปได้
ดังนั้นท่านควรรักษาค่าของแมกนีเซียมในระบบของท่านให้เพียงพอ คือประมาณ 1250-1350 ppm การเติมแมกนีเซียมนั้น ท่านสามารถหาซื้อแมกนีเซียมสำหรับตู้ปลาทะเลได้ทั่วไปตามท้องตลาด แต่ที่สำคัญท่านควรจะค่อยๆเติมทีละน้อย กฎที่ต้องจำก็คือ ห้ามเพิ่มปริมาณแมกนีเซียมในระบบเกิน 100ppm ต่อวัน ท่านควรเพิ่มทีละน้อยในแต่ละวันจนกระทั่งแมกนีเซียมในระบบของท่าน อยู่ระหว่าง 1250-1350ppm การรักษาระดับแมกนีเซียมไว้ในค่าดังกล่าวท่านจะสามารถเห็นการเจริญเติบโตของปะการังและคอรัลไลน์แอลจี ได้เป็นอย่างดี
ฟอสเฟส Phosphate (PO4)
ฟอสเฟสมีประโยชน์ต่อปะการังบางชนิด แต่ไม่ควรมีมากเกินไปในระบบของท่าน เนื่องจากฟอสเฟสที่มากเกินไปจะก่อให้เกิด สาหร่ายที่ไม่พึงประสงค์ รวมไปถึงตระไคร่แดงหรือ cyanobacteria ซึ่งสามารถแย่งอาหารและฆ่าปะการังบางชนิดได้ มากไปกว่านั้นการกำจัด cyanobacteria ยังเป็นเรื่องยากเนื่องจากไม่มีสัตว์ชนิดใดที่กินมันเป็นอาหาร และการใช้สารเคมีกำจัดแบคทีเรียทีมีขายอยู่ปัจจุบันก็ยังมีผลข้างเคียงกับระบบของท่าน
การจำกัดปริมาณฟอสเฟสให้อยู่ที่น้อยกว่า 0.03ppm จึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ท่านควรคำนึงถึง แต่หากระบบของท่านมีปะการังแข็งอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ท่านจะต้องลดปริมาณฟอสเฟสให้ต่ำมากที่สุดหรือไม่มีเลยในระบบ
ฟอสเฟสเข้าสู่ระบบของท่านได้หลายวิธี อาทิเช่น จากน้ำปะปาที่ท่านเติมลงในระบบ, จากอาหารสด หรืออาหารแห้งที่ไม่ได้คุณภาพ, การตายของสาหร่ายในระบบของท่าน, จากแร่ธาตุที่ไม่ได้คุณภาพที่ท่านเติมลงไป และอื่นๆอีกมากมาย ท่านควรจะตรวจวัดปริมาณฟอสเฟสในระบบและแก้ไขปัญหาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ปริมาณฟอสเฟสจะสะสมมากจนเกินไป
การขจัดฟอสเฟสออกจากระบบมีหลายวิธี แต่วิธีที่แนะนำมากที่สุดคือ การลดปริมาณฟอสเฟสที่ท่านจะเพิ่มลงไปในระบบ กล่าวคือท่านควรใช้น้ำสะอาด เติมน้ำที่ระเหยออกจากตู้ ไม่ให้อาหารปลามากจนเกินไป ท่านควรหลีกเลี่ยงทุกวิธีที่จะทำให้เพิ่มปริมาณฟอสเฟสในระบบของท่าน
การใช้ Ferrous Oxide Phosphate Remover เป็นอีกวิธีหนึ่งที่แนะนำในการลดปริมาณฟอสเฟสในระบบ สารดังกล่าวจะมีสีน้ำตาล จะทำการดูดซับฟอสเฟสออกจากระบบของท่าน โดยที่ไม่เป็นอันตรายใดๆต่อสัตว์ทุกชนิด แต่อาจจะทำให้ค่า pH ในระบบลดลงเล็กน้อยขณะเริ่มใช้ แต่ไม่เป็นอันตรายใดๆ
แอมโมเนีย Ammonia
แอมโมเนียเกิดจากของเสียจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบของท่าน แอมโมเนียมีพิษร้ายแรงต่อสัตว์ทุกชนิด รวมไปถึงปลาและปะการังต่าง เพียงแค่ระดับ 0.2 ppm แอมโมเนียสามารถ ทำให้ปลาตายได้ แต่ในระบบที่มีอายุเกิน6เดือนแล้ว การกำจัดแอมโมเนียจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แบคทีเรียจะใช้แอมโมเนียและสลายให้เกิดเป็นไนไตรทและไนเตรท ตามลำดับ ซึ่งเป็นพิษน้อยลงต่อสิ่งมีชีวิต (Nitrogen cycle)
ท่านไม่ควรมองข้ามระดับของแอมโมเนียในระบบ ระดับแอมโมเนียในระบบของท่านไม่ควรเกิน 0.1ppm หรือต่ำที่สุดเท่าที่ท่านสามารถจะทำได้ ท่านสามารถกำจัดแอมโมเนียได้หลายวิธี อาทิเช่น การปลูกสาหร่ายใบเขียว เช่นสาหร่ายองุ่น,ใบเลื่อย เนื่องจากสาหร่ายดังกล่าว จะใช้แอมโมเนียในการสร้าง โปรตีน,ดีเอ็นเอ และส่วนประกอบทางชีววิทยาต่างๆที่มีส่วนผสมของไนโตรเจน กล่าวง่ายๆคือสาร่ายจะช่วยท่านดูดซับแอมโมเนีย เปลี่ยนให้เป็นสิ่งอื่นซึ่งไม่มีพิษต่อระบบของท่าน อีกวิธีก็คือการเติบแบคทีเรียคุณภาพสูง เพื่อช่วยสลายแอมโมเนียและก่อให้เกิด วงจรไนโตรเจนในระบบ
สรุป
มาตรวัดทางเคมีที่เกี่ยวกับระบบตู้ทะเลยังมีอีกมากมายซึ่งมิได้กล่าวไว้ในบทความนี้ บางตัวก็เป็นสิ่งสำคัญที่ท่านจะพลาดไม่ได้ แต่บางตัวก็เป็นเพียงสิ่งที่ท่านควรจะสนใจแต่ไม่ได้สำคัญมากนัก นักเลี้ยงมือใหม่ในประเทศไทยส่วนใหญ่มัก จะสนใจเพีงแค่การวัด pH และ NO2 ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาระบบตู้ทะเลของท่าน ท่านควรจะดูแลค่าต่างๆตามตารางข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อเป็นการ ดูแลรักษาตู้ทะเลของท่าน ให้อยู่รอดเจริญเติบโตและสามารถขยายพันธ์ได้ในระบบปิด ท่านควรเอาใจใส่สิ่งที่ท่านครอบครองให้เหมือนกับบ้านแท้ๆ ในทะเล การดูแลตู้ทะเลนั้นเปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ ท่านควรที่จะใส่ปุ๋ยพรวนดินอยู่เสมอเพื่อให้ต้นไม้ของท่าน ออกดอกออกผลและขยายพันธ์ มิใช่เพียงแค่ว่านำต้นไม้ต้นหนึ่งมาตั้งไว้ และรอวันให้ต้นไม้นั้นเหี่ยวเฉาไปเรื่อยๆ แล้วจึงนำต้นใหม่มา วนปลูกอยู่เสมอ งานอดิเรกชนิดนี้เป็นที่จับตาจากบุคคลหลายฝ่ายดังนั้นเราจึงควรแสดงถึงความรับผิดชอบต่อการกระทำของเรา